บทที่ 3 การสื่อสารข้อมูลสำหรับเครือข่ายคอมพิวเตอร์


ความรู้เบื้องต้นของการสื่อสารสำหรับเครือข่ายคอมพิวเตอร์
การสื่อสารข้อมูลเป็นการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความรู้สึกจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยอาศัยสื่อหรือเครื่องมือต่างๆ เป็นช่องทางในการสื่อสาร เช่น การสื่อสารด้วยท่าทาง ถ้อยคำ สัญลักษณ์ ภาพวาด จดหมาย โทรเลข เป็นต้น ต่อมาการสื่อสารข้อมูลได้พัฒนาและก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ทำให้การติดต่อสื่อสารเกิดความสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งได้รับข่าวสารทันเหตุการณ์อีกด้วย
ความหมายของการสื่อสารข้อมูลและเครือข่ายคอมพิวเตอร์
การสื่อสาร หมายถึงกระบวนการถ่ายทอดหรือแลกเปลี่ยนสารหรือสื่อระหว่างผู้ส่งและผู้รับ โดยผ่านช่องทางนำสารหรือสื่อ เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน
การสื่อสารข้อมูล หมายถึง กระบวนการหรือวิธีถ่ายทอดข้อมูลระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์ที่มักอยู่ห่างไกลกัน และจำเป็นต้องอาศัยระบบการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นสื่อกลางในการรับส่งข้อมููล
เครือข่ายคอมพิวเตอร์ หมายถึง การเชื่อมโยงระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ 2 เครื่องขึ้นไป เพื่อให้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งสามารถใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ภายในเครือข่ายร่วมกันได้
องค์ประกอบของระบบสื่อสารข้อมูล
1.      ข่าวสาร (message) ในทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ข่าวสารเป็นข้อมูลที่ผู้ส่งทำการส่งไปยังผู้รับผ่านระบบการสื่อสาร ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบ ดังต่อไปนี้
2.      ผู้ส่ง (sender)เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ส่งข้อมูลที่อยู่ต้นทาง โดยข้อมูลต้องถูกจัดเตรียมนำเข้าสู่อุปกรณ์ส่งข้อมูล เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โมเด็ม (modem) จานไมโครเวฟ จานดาวเทียม เป็นต้น
3.      ผู้รับ (receiver) เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่รับข้อมูลจากอุปกรณ์ส่งข้อมูล เช่น เครื่องพิมพ์ คอมพิวเตอร์ โมเด็ม จานดาวเทียม เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อไป
4.      สื่อกลางหรือตัวกลาง (media) เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่นำข่าวสารรูปแบบต่างๆจากผู้ส่งไปยังผู้รับ ได้แก่สายไฟ ขดลวด สายเคเบิล สายไฟเบอร์ออฟติก เป็นต้น สื่อกลางอาจจะอยู่ในรูปของคลื่นที่ส่งผ่านทางอากาศ เช่น คลื่นไมโครเวฟ คลื่นดาวเทียม คลื่นวิทยุ เป็นต้น
5.      โพรโตคอล (protocol) เป็นตัวกำหนดคุณลักษณะ กฎระเบียบ หรือวิธีการที่ใช้ในการสื่อสาร เพื่อให้ผู้รับและผู้ส่งเข้าใจกัน และสามารถสื่อสารกันได้อย่างถูกต้อง
6.      ซอฟต์แวร์ (software) เป็นโปรแกรมสำหรับดำเนินการและควบคุมการส่งข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้ข้อมูลตามที่กำหนดไว้ ตัวอย่างซอฟต์แวร์ เช่นMicrosoft Windows XP/Vista/7, Unix , Internet Explorer , Windows Live Message เป็นต้น
การสื่อสารข้อมูล
อุปกรณ์ที่สำคัญในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
เครือข่ายคอมพิวเตอร์
ระบบสื่อสารข้อมูลที่ใช้เชื่อมอุปกรณ์ปลายทางหลายตัวเข้าด้วยกัน เราเรียกว่า  เครือข่ายการสื่อสารข้อมูล โดยทั่วไประบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์นั้น  สามารถแบ่งออกตามขนาดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เครือข่ายนั้นตั้งอยู่และลักษณะการใช้งานออกได้เป็น 6 ประเภท ดังนี้
1) เครือข่ายคอมพิวเตอร์เฉพาะที่หรือแลน (Local area network: LAN) เป็นเครือข่ายส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง ใช้เชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ใกล้กัน เช่น ภายในสำนักงาน ภายในอาคาร ภายในองค์กร เป็นต้น โดยคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องจะต่อเข้ากับอุปกรณ์เครือข่าย เช่น ฮับ สวิตช์ สายตีเกลียวคู่ คลื่นวิทยุ เป็นต้น และอุปกรณ์เครือข่ายแต่ละตัวจะเชื่อมตัวโดยใช้สายตีเกลียวคู่ สายเส้นใยนำแสงหรือคลื่นวิทยุแบบใดแบบหนึ่ง หรือผสมผสานกันก็ได้ แต่เครือข่ายแลนจะเชื่อมต่อถึงกันด้วยเราท์เตอร์อีกทีหนึ่ง
2) เครือข่ายนครหลวงหรือแมน( Metropolition are network: MAN) เป็นเครือข่ายข้อมูลที่ครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์มากกว่าเครือข่ายแลน เช่น การเชื่อมต่อระหว่างองค์กรต่างๆ ภายในอำเภอ หรือจังหวัด เป็นต้น ซึ่งลักษณะการนำเครือข่ายแลนหลายๆเครือข่ายที่อยู่ห่างกันมาต่อถึงกันผ่านทางสื่อต่างๆ เช่น ไมโครเวฟ คลื่นวิทยุ ดาวเทียม เป็นต้น จะทำให้ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างแต่ละเครือข่ายมีความเร็วไม่สูงมาก
3) เครือข่ายบริเวณกว้างหรือแวน (Wide area network: WAN) เป็นเครือข่ายที่เกิดจากการเชื่อมต่อเครือข่ายแลนหลายๆเครือข่ายที่อยู่ห่างไกลเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารขององค์กรต่างๆ เช่น ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล เป็นต้น สามารถคลอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์มากกว่าเครือข่ายแบบแมน โดยจะเชื่อมต่อผ่านสื่อกลางต่างๆ เช่นไมโครโฟน ดาวเทียม เป็นต้น แต่มีข้อจำกัดในการรับส่งข้อมูลต้องเป็นข้อมูลที่มีปริมาณไม่มากนักในแต่ละระดับ และยังมีปัญหาความล่าช้าด้วย
4) เครือข่ายภายในองค์กรหรืออินทราเน็ต(Intranet) เป็นระบบเครือข่ายที่นำเทคโนโลยีแบบเปิดจากอินเตอร์เน็ตมาประยุกต์ใช้ภายในองค์กร เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการทำงานต่างๆ ร่วมกันของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการจำกัดขอบเขตการใช้งานให้อยู่ภายในองค์กรเท่านั้น เช่น การใช้งานเครื่องบริการเว็บ (web server) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
5) เครือข่ายภายนอกองค์กรหรือเอกซ์ทราเน็ต (Extranet) เป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อเครือข่ายภายในองค์กรเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ภายนอกองค์กร เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ขายสินค้าสาขาหรือลูกค้า โดยจะอนุญาตและควบคุมให้เฉพาะสมาชิกขององค์กรหรือผู้ที่ได้รับสิทธิใช้งานเท่านั้น เช่น การเข้าใช้งานระบบฐานข้อมูลบนแม่ข่าย (server)ในบริษัท เป็นต้น ทำให้ติดต่อสื่อสารกันได้ฉับไว ทันเหตุการณ์ ลดค่าใช้จ่าย และเวลาในการทำงานบางด้านขององค์กร
6) เครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet) เป็นการเชื่อมต่อเครือข่ายต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน กล่าวได้ว่า เครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีอัตราการขยายตัวสูง สามารถสื่อสารได้หลายเส้นทางตามความต้องการใช้ในการติดต่อ การพูดคุยสนทนา การแลกเปลี่ยนข้อมูล การทำธุรกิจแบบอิเล็กทรอนิกส์ การศึกษาทางไกล สามารถใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อน รวมทั้งเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนของผู้ใช้เท่านั้น

ประโยชน์ของเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์มีประโยชน์มากมายต่อระบบการทำงานในหลายองค์กร ซึ่งสามารถสรุปประโยชน์เป็นด้านๆ ได้ดังนี้
๑)ด้านการใช้งาน ระบบเครือข่ายสามารถให้ผู้ใช้หลายคนใช้โปรแกรมและข้อมูลต่างๆ ได้ในเวลาเดียวกัน ถ้ามีการแลกเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งข้อมูลที่เครื่องอื่นๆ จะถูกเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เช่น บริษัทรถทัวร์เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์แต่ละสาขาเข้าด้วยกัน เพื่อให้ลูกค้าทราบถึงตำแหน่งที่นั่งว่างของรถทัวร์แต่ละคัน
๒)ด้านการใช้อุปกรณ์ ผู้ใช้สามารถใช้อุปกรณ์ร่วมกันได้ เช่น เครื่องพิมพ์เครื่องสแกนเนอร์ เป็นต้น เนื่องจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีราคาค่อนข้างสูง และมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูงด้วย ทำให้บริษัทหรือธุรกิจต่างๆ ทำการติดตั้งระบบเครือข่ายขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายและดูแลรักษาได้ง่ายขึ้น
๓)ด้านการสื่อสาร ผู้ใช้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วขึ้น เช่น จดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมล(e-mail)เป็นระบบที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อความผ่านระบบเครือข่าย เสมือนเป็นการรวมการทำงานไปรษณีย์กันระบบตอบรับโทรศัพท์เข้าด้วยกันการรับส่งอีเมลผ่านเครือข่ายในบริษัทต่างๆ ก็เหมือนกันการรับส่งอีเมลในระบบอินเตอร์เน็ต ปกติแล้วระบบเครือข่ายภายในบริษัทต่างๆ จะเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ต ดังนั้นพนักงานภายในบริษัทจึงสามารถเลือกที่จะส่งและรับข้อความจากระบบเครือข่าย หรือจากระบบอินเตอร์เน็ตก็ได้ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยม คือ การประชุมทางไกล(teleconference)เป็นการประชุมโดยที่ผู้ประชุมอยู่คนละที่กัน สามารถพิมพ์ข้อความ หรือสนทนาโต้ตอบแสดงความคิดเห็นกันได้ อีกทั้งยังสามารถนำเสนอผลงาน แผนภูมิ ภาพวาด และงานอื่นๆ ได้อีกด้วย
๔)ด้านการสำรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานแต่ละเครื่อง สามารถส่งข้อมูลผ่านทางเครือข่ายมาเก็บไว้ที่หน่วยความจำสำรองที่เป็นส่วนกลาง ไม่จำเป็นต้องเก็บสำรองไว้ที่เครื่องของตนเอง เมื่อจะเรียกใช้ก็สามารถเรียกใช้ได้ผ่านทางระบบเครือข่าย ซึ่งมีข้อดีในกรณีที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของพนักงานเกิดปัญหา ก็ยังมีข้อมูลเก็บไว้ไม่สูญหาย รวมทั้งในกรณีที่จะต้องใช้ข้อมูลร่วมกัน ก็สามารถเรียกใช้ได้ง่าย และยังมีความสะดวกในเรื่องของการจัดระบบข้อมูลและการดูแลรักษาความปลอดภัยด้วย


คำถามท้ายบทที่ 3
1.การสือสารหมายถึงอะไร
2. จงบอกองค์ประกอบของระบบสือสาร
3.ข้อดีของเครื่อข่ายแลนคือ
4.เพราะเหตุใดข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีอัตราการขยายตัวสูง
5.จงยกตัวอย่างของประโยชน์เครื่อข่ายคอมพิวเตอร์

เฉลยคำถามท้ายบทที่3
1.กระบวนการถ่ายทอดหรือแลกเปลี่ยนสารหรือสื่อระหว่างผู้ส่งและผู้รับ โดยผ่านช่องทางนำสารหรือสื่อ เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน
2.ข่าวสาร ผู้ส่งสาร ผู้รับสาร สื่อกลาง โพรโตคอล ซอฟต์แวร์
3.เป็นเครือข่ายส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง ใช้เชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ใกล้กัน
4.เป็นการเชื่อมต่อเครือข่ายต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน
5.ระบบเครือข่ายสามารถให้ผู้ใช้หลายคนใช้โปรแกรมและข้อมูลต่างๆ ได้ในเวลาเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น